พี่สอนน้อง ชี้แนะเทคนิคการวิ่งแบบนักกีฬามืออาชีพ

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ เนื้อร้องของเพลงปลุกใจท่อนนี้ จุดประกายให้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายกันมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันยุคสมัยที่เชื้อโรคมีอยู่รอบตัวพอ ๆ กับอากาศ โรคประหลาดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของภาพที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันในช่วงเช้าและช่วงเย็น ผู้คนออกจากบ้านเพื่อหาสถานที่ออกกำลังกายกันอย่างคับคั่ง และหากคุณเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คน ที่กำลังอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการออกกำลังกายประเภทลู่อย่างการวิ่ง กีฬาอินเทรนด์ฮอทฮิตติดกระแส แต่ยังลังเล และงง ๆ อยู่ว่าควรจะเริ่มต้นและวิ่งอย่างไรดี เพื่อให้วิ่งได้อย่างถูกวิธี ไม่บาดเจ็บเสียก่อนจนหมดความตั้งใจ และทำอย่างไรจึงจะวิ่งได้ยาวตลอดรอดฝั่ง วันนี้เรามีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยที่นักกีฬาวิ่งมืออาชีพให้คำแนะนำไว้มาบอกต่อว่าที่นักกีฬากัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกัน

คำแนะนำเทคนิคการวิ่งแบบนักกีฬามืออาชีพ

1.ไม่คาดหวังก็จะไม่ผิดหวัง

การจะเป็นนักวิ่งที่ดีได้นั้น จุดเริ่มต้นไม่ใช่อยู่ที่ร่างกายพร้อมเพียงอย่างเดียว คุณต้องมีใจที่พร้อมด้วย อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป จนทำให้ความสนุกตื่นเต้นที่คุณมีต่อการวิ่งหายไปกลายเป็นความน่าเบื่อแทน เพราะหากคุณรู้สึกแบบนั้นเมื่อไหร่ การถอดใจและเลิกวิ่งก็จะตามมาในไม่ช้า

2.สร้างความสนุกในการวิ่งให้กับตนเอง

วิ่ง กีฬาประเภทนี้สิ่งที่ยากที่สุดน่าจะมาจากการเอาชนะความเบื่อขณะที่ต้องวิ่งเป็นเวลานานอย่างการวิ่งมาราธอน คุณควรหาความสนุกเพื่อลดอาการเบื่อหน่ายในรูปแบบของคุณ อาทิ การฟังเพลงขณะวิ่ง หาเพื่อนวิ่งเป็นหมู่คณะ เปลี่ยนสถานที่วิ่งบ่อย ๆ ให้สภาพแวดล้อมดูน่าสนใจ หรือหากคุณวิ่งบนเครื่องวิ่งออกกำลังกายตามฟิตเนส ควรหาหนังหรือซีรีย์มาดูแก้เบื่อก็ถือเป็นทางออกที่ดี

3.เลือกเส้นทางการวิ่งที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ที่หัดวิ่งในช่วงแรก ควรเริ่มจากการวิ่งในลู่หรือในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ที่มีการจัดทำเส้นทางการวิ่งไว้ เพราะสถานที่เหล่านี้จะมีลู่ที่นิ่มเรียบ หากล้มหรือสะดุดโอกาสเจ็บตัวก็จะน้อยกว่าการวิ่งบนพื้นปูน พื้นถนน หรือพื้นลูกรังผิวขรุขระ

4.อย่าตระหนี่กับการลงทุนซื้อรองเท้าวิ่งดี ๆ ซักครู่

เท้าและขาถือเป็นอุปกรณ์หรืออวัยวะสำคัญของกีฬาวิ่ง ฉะนั้นคุณควรดูแลมันเป็นอย่างดี ควรเลือกรองเท้าวิ่งที่ถูกต้องออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับประเภทกีฬา ถูกโครงสร้างสรีระเท้าของแต่ละคน และการันตีคุณภาพรองเท้าด้วยแบรนด์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับโลก เพื่อให้คุณสบายใจได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าคุ้มราคาแน่นอน

5.ฝึกหายใจระหว่างวิ่งอย่างถูกวิธี

ปกติเวลามนุษย์เราเหนื่อยหอบ เราจะมีวิธีหายใจที่เร็ว แรง และถี่ ซึ่งการหายใจแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายขณะวิ่งของคุณ คุณต้องหายใจเข้าออกลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายสูดเอาออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงได้เต็มปอด วิธีนี้จะทำให้คุณเหนื่อยช้าและเหนื่อยน้อยลง

6.หากเหนื่อยนักพักเดินบ้างก็ได้

ไม่ได้มีกฎข้อห้ามในการวิ่งให้คุณห้ามเดิน ในช่วงที่คุณเพิ่งหัดวิ่ง ร่างกายและปอดจะยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร การพักเหนื่อยด้วยการเดินสลับวิ่งจะช่วยให้ร่างกายค่อยฝึกปรับตัว และจะทำให้วิ่งได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

7.ควรวิ่งอย่างมีเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเอง

เพื่อให้การวิ่งมีประสิทธิภาพ คุณควรกำหนดเป้าหมายการวิ่งให้กับตนเอง เพื่อเป็นแรงผลักดันให้วิ่งได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ไม่วิ่งแบบเลื่อนลอย เพราะการตั้งเป้าจะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ให้การวิ่งของคุณไม่น่าเบื่อจนเกินไป

8.ค้นหาและวิ่งตามจังหวะของตนเอง

จังหวะการวิ่งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามจังหวะของใคร เพียงแค่วิ่งและรักษาจังหวะของตนให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดเส้นทาง และเพื่อรักษาจังหวะ รวมถึงเพิ่มอรรถรสขณะวิ่งควรหาเพลงที่มีจังหวะตรงกับจังหวะการวิ่งมาฟัง เพื่อให้การวิ่งไม่น่าเบื่อจำเจ และรักษาจังหวะการวิ่งได้คงที่สม่ำเสมอ

ทั้ง 8 ข้อที่นำมาแนะนำล้วนเป็นสิ่งชี้นำไปสู่การเป็นนักวิ่งมืออาชีพของคุณ ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ความสม่ำเสมอในการขยันซ้อม การมีจิตใจที่มุ่งมั่นไม่ไขว้เขว ไม่ถอดใจอะไรง่าย ๆ เชื่อได้ว่าวิธีฝึกทั้งกายและใจทั้ง 8 ข้อนี้ จะนำพาคุณไปสู่เส้นทางของนักวิ่งมืออาชีพได้อย่างแน่นอน

วิ่งอย่างไรไม่ให้บาดเจ็บ วิธีเตรียมตัวและข้อควรระวังที่นักวิ่งหน้าใหม่ควรรู้

ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราจะอยู่ในยุคที่การออกกำลังกายเป็นมากกว่าส่วนหนึ่งของชีวิต ยุคสมัยที่ผู้คนหันมาใส่ใจต่อสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และประเภทกีฬาที่คนไทยนิยมเล่นเพื่อออกกำลังกาย โดยส่วนมากจะเป็นกีฬาหรือการออกกำลังกายที่เน้นความสะดวก ง่าย และสามารถเล่นได้ด้วยตัวคนเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “วิ่ง” จะกลายเป็นกีฬายอดนิยมที่ถูกเลือกนำมาออกกำลังกายกันมากที่สุดในปัจจุบัน

เริ่มต้นวิ่งอย่างไรให้ปลอดภัยไม่บาดเจ็บ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจและต้องการหัดวิ่ง หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากำลังอยากเป็น “นักวิ่งมือใหม่” คุณควรมีการเตรียมตัว และเตรียมพร้อมที่ดี ไม่ใช่นึกอยากวิ่งก็หารองเท้าผ้าใบสักคู่แล้วใส่วิ่งได้เลย เพราะหากคุณทำเช่นนั้นคุณอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อ หรือร่างกายในภายหลังได้ แล้วต้องเตรียมตัวและวิ่งอย่างไรวันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน

1. เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการวิ่ง

ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ดูเหมือนอาจจะไม่ต้องแนะนำก็ได้ แต่เชื่อได้เลยว่าคงมีหลาย ๆ คนที่บาดเจ็บ หรือปวดกล้ามเนื้อจากการเลือกใช้รองเท้าที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากคนต้องวิ่งเป็นระยะเวลานาน การใช้รองเท้าที่ดีจะช่วยประคับประคองเท้า ขา รวมถึงร่างกายของคุณให้วิ่งได้ง่ายและไวขึ้น ไม่เกิดการพลิก หรือเสียการทรงตัวขณะวิ่ง โดยรองเท้าวิ่งที่ดีควรมีน้ำหนักเบา มีพื้นรองเท้าที่หนานุ่ม ตัวรองเท้าใส่แล้วกระชับแนบติดเท้า และปกป้องคุ้มครองข้อเท้าเพื่อป้องกันการพลิกหรือล้มได้เป็นอย่างดี ทางที่ดีแนะนำให้เลือกรองเท้าที่ผลิตมาสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ หรือรองเท้า Running ที่ปัจจุบันมีวางขายตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าชั้นนำอยู่มากมายให้เลือกสรร

2. ยืดเส้นและ Warm up ก่อนเริ่มวิ่ง

ก่อนทำการวิ่งทุกครั้งควรหาท่ายืดเส้นบริหารร่างกายสัก 5 – 15 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เตรียมพร้อมและสามารถยืดหยุ่นได้ดีขณะวิ่ง รวมถึง Warm up ด้วยการเดินก่อนสักระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับปอดให้สามารถปรับตัวและทำงานได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเปลี่ยนจากเดินเป็นวิ่ง

3. ระหว่างวิ่งควรสลับด้วยการเดินอยู่เป็นระยะ

เพื่อไม่ให้ร่างกายทำงานหนักจนอาจเข้าสู่ภาวะ Over load ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ ซึ่งหากไม่ระวังอาจนำไปสู่การเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน เรียกได้ว่าให้ทั้งคุณและโทษได้เลยหากหักโหมออกกำลังกายอย่างไม่ประมาณตน

4. ก่อนหยุดวิ่งให้เปลี่ยนเป็นเดิน และ Cool down

ทฤษฎีเดียวกันกับก่อนเดิน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวไม่สลับโหมดอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ก่อนหยุดวิ่งควรเปลี่ยนมาเป็นเดินซัก 5 – 10 นาที และ Cool down ด้วยท่าบริหารร่างกายยืดเส้นคลายกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการเกิดตะคริว กล้ามเนื้อเกร็งหดตัวที่อาจทำให้นักวิ่งหน้าใหม่ของเรารู้สึกเจ็บปวดในภายหลัง

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าสิ่งใดหากคิดจะเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง ควรศึกษาและมีการเตรียมตัวที่ดี หากผลีผลามลงมือทำเลยคงไม่ใช่เรื่องดีเป็นแน่ ยิ่งเป็นกิจกรรมที่มีผลต่อสุขภาพอย่างการวิ่งออกกำลังกายแล้ว หากทำอย่างไม่ถูกวิธี แทนที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายดังใจหวัง อาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงเกินคาดก็เป็นได้ ทางที่ดีควรออกกำลังกายอย่างพอดี ค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง และเวลาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อร่างกายสูงสุด

วิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย 5 อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่ง

อาการบาดเจ็บเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่ใช้ร่างกายหนักอย่างนักกีฬา ไม่ว่าจะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุระหว่างฝึกซ้อม หรือระหว่างแข่ง หรือบาดเจ็บจากการใช้ร่างกายหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการเหล่านี้ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคหลักของนักกีฬาแต่ละคน เพราะด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพิชิตเป้าหมาย อาจทำให้คุณทุ่มเทมากจนลืมขีดจำกัดที่ร่างกายจะรับไหว ซึ่งวันนี้เราจะมากล่าวถึงอาการบาดเจ็บของกีฬาประเภทลู่ยอดนิยมอย่างการวิ่ง กีฬาสุดฮิตติดกระแสของไทยที่ปัจจุบันมีนักวิ่งมือสมัครเล่นที่ผันตัวเองมาเป็นนักวิ่งมืออาชีพเก็บแต้ม ล่าเหรียญ ทุบสถิติให้เห็นกันอยู่มากมายและทยอยเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันอีกด้วย นักวิ่งเหล่านี้จะมีความมุ่งมั่นทุ่มเทค่อนข้างมาก จนบางทีลืมอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ร่างกายหนักจนเกินไป โดยอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่งที่เห็นกันอยู่ประจำนั้น จะมีด้วยกัน 3 อาการต่อไปนี้

3 อาการบาดเจ็บจากการวิ่งที่พบเจออยู่บ่อยครั้ง

1. อาการ IT band หรืออาการปวดเข่าด้านนอก สาเหตุมาจากการงอและยืดเข่าอยู่เป็นประจำ ซึ่งคือลักษณะของการวิ่งนั่นเอง เอ็นกล้ามเนื้อต้นขาเสียดสีกับกระดูกข้อเข่าทำให้เกิดอาการปวด มักพบในผู้ที่วิ่งบ่อยเป็นประจำ

วิธีป้องกัน สร้างกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาจนถึงข้อเข่าให้แข็งแรงด้วยการเวทเทรนนิ่งให้ และเปลี่ยนท่าวิ่งให้ถูกต้องเหมาะสม วิ่งเท้าตรงไม่บิดเบี้ยวไปมา ใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะของการวิ่ง พื้นราบนุ่มรองรับกับเท้าได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญไม่ฝืนขีดจำกัดร่างกายในการวิ่ง ออกกำลังกายอยู่พอดี ไม่หักโหมจนเกินไป

2. อาการ Runner’s Knee หรืออาการปวดเข่าบริเวณลูกสะบ้า สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย แต่หากอาการนี้เกิดในกลุ่มนักวิ่งนั้น สาเหตุหลัก ๆ คงหนีไม่พ้นการใช้งานที่มากเกินไป หรือหักโหมวิ่งมากเกินไปนั่นเอง จนทำให้กระดูกสะบ้าบริเวณหัวเข่าเกิดความไม่สมดุลในการควบคุมขณะงอและยืดเข่า และมีอาการปวดตามมา

วิธีป้องกัน เพิ่มความแข็งแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาจนถึงเข่า ทำกายภาพบำบัดจัดเรียงกระดูกบริเวณข้อต่อหัวเข่าให้สมดุล ขณะวิ่งหรือใช้งานขามาก ๆ ให้ติดเทปหรือพันผ้าเพื่อป้องกันการเคลื่อนขยับบริเวณกระดูกสะบ้า

3. รองช้ำอักเสบ อาการอักเสบบริเวณพังผืดส้นเท้า สาเหตุจากการใช้งานเท้าที่หนักเกินที่ร่างกายจะรับไหว การวิ่งอย่างไม่ประมาณตน ส่งผลให้ส้นเท้า รวมถึงบริเวณทั่วทั้งฝ่าเท้าได้รับแรงกระแทกจนเกิดอาการอักเสบ นอกจากปัจจัยภายในแล้วปัจจัยภายนอกก็มีส่วนทำให้เกิดอาการรองช้ำอักเสบ อาทิ พื้นผิวที่วิ่งอาจแข็งหรือขรุขระมากเกินไป หรือรองเท้าไม่เหมาะสมพื้นรองเท้าแข็งหรือบางเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดอาการรองช้ำอักเสบได้เช่นกัน

วิธีป้องกัน ปรับเปลี่ยนท่าวิ่ง ให้วิ่งลงเท้าอย่างนุ่มนวล และวิ่งซอยถี่มากขึ้นเพื่อลดแรงกระแทก รวมถึงเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสม อย่าเสียดายกับรองเท้าคู่โปรดที่หมดอายุการใช้งาน เลือกวิ่งในลู่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ เพื่อลดแรงกระแทกการวิ่งในลู่วิ่งนั้น เท้าเราจะได้ผิวสัมผัสที่นุ่มกว่าการวิ่งบนหินหรือทางที่ขรุขระทั่วไป

 นอกจากทั้ง 3 อาการที่กล่าวมา ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ให้พบเห็นอยู่อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคน และวิธีการใช้งานขาขณะวิ่ง ซึ่งหากคุณมีอาการบาดเจ็บดังกล่าว วิธีที่ดีสุดของอาการเหล่านี้ประการแรกก็คือ ลดการใช้งานขาที่หนักหน่วงลง หรือหยุดการวิ่งออกกำลังกายไปก่อนซักระยะจนกว่าจะหายดี ใช้ยาสมานตามอาการ และหมั่นยืดกล้ามเนื้ออยู่เสมอ หรือประคบน้ำอุ่นเพื่อให้กล้ามเนื้อลดอาการหดเกร็งและพังผืดอ่อนตัว วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวดลงได้ รู้แบบนี้แล้วควรวิ่งให้ถูกวิธีและไม่วิ่งหักโหมจนเกินไป เพราะการรักษานั้นยากกว่าการป้องกัน อย่าให้ความประมาทมาทำลายฝันในการเป็นแชมป์นักวิ่งของคุณได้

เส้นทางสู่การเป็นนักวิ่งมืออาชีพ เคล็ด(ไม่)ลับที่จะทำให้คุณวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

การวิ่งออกกำลังกาย กีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสังคมไทยปัจจุบัน หลาย ๆ คนที่ยกให้การวิ่งเป็นอีกหนึ่งในงานอดิเรกของตน แต่ก็มีอีกหลาย ๆ คนที่หลงรักและผันตัวเองมาเป็นนักกีฬาวิ่งมืออาชีพ ที่ออกล่าแต้มเหรียญรางวัลในทุก ๆ การแข่งขันที่ตนมีโอกาส โดยนักวิ่งมืออาชีพเหล่านี้ต้องฝึกสิ่งใดเพิ่มเติมกว่าตอนเป็นนักวิ่งสมัครเล่นบ้าง วันนี้เราจะมาบอกเล่าเคล็ด(ไม่)ลับของการก้าวสู่เส้นทางนักวิ่งมืออาชีพที่จะช่วยให้คุณออกวิ่ง และทำลายสถิติการวิ่งของตนเองได้เร็วกว่าเดิม

เคล็ด(ไม่)ลับการก้าวสู่เส้นทางนักวิ่งมืออาชีพ

1. นักวิ่งที่ดีควรให้ความสำคัญกับการอุ่นเครื่องร่างกายก่อนวิ่ง

ถือเป็นหัวใจสำคัญของการวิ่งเลยก็ว่าได้ การอุ่นเครื่องร่างกาย หรือการยืดเส้นยืดสายเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่นไม่หดเกร็งขณะวิ่ง จะทำให้นักวิ่งสามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่ ไร้อุปสรรคทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ โดยการอุ่นเครื่องนั้นต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ไม่เน้นใช้พลังงานมาก เพราะจะทำให้หมดแรงวิ่งก่อนถึงเส้นชัย

2. นักวิ่งที่ดีควรฝึกฝนการวิ่งช้าเร็วสลับกัน

การวิ่งช้าเร็วสลับกันนั้นเป็นการฝึกเร่งความเร็วในการวิ่ง โดยนักวิ่งจะเริ่มวิ่งเหยาะ ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยเร่งความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงการวิ่งแบบสุดแรง และสลับกลับมาวิ่งเหยาะ ๆ อีกครั้ง การฝึกแบบนี้เป็นการฝึกฝนเพื่อให้ร่างกายและกล้ามเนื้อคุ้นเคยกับการวิ่งแบบเร่งความเร็วมากขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อไม่เกิดอาการบาดเจ็บแล้ว ยังทำให้ร่างกายยืดหยุ่น ไม่เป็นอุปสรรคในการเร่งความเร็ว ทำให้สามารถทำเวลาได้เร็วขึ้นในวันแข่งจริง

3. ท่าวิ่งมีผลต่อความเร็วในการวิ่ง

รู้หรือไม่ว่าหากคุณวิ่งได้ท่าที่ถูกต้องเหมาะสมจะทำให้คุณวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิม นักกีฬาวิ่งระดับโลกหลาย ๆ คน ใช้เทคนิคนี้ในการวิ่งได้เร็วกว่าเพื่อนนักกีฬาคนอื่น การยกขาหน้าและดีดขาหลังส่งตัวที่เหมาะสมกับสรีระของตัวเอง จะทำให้ได้ระยะก้าวที่เพิ่มมากขึ้นและวิ่งได้เร็วกว่าปกติ โดยวิธีนี้นักวิ่งอาจฝึกซ้อมได้ด้วยการวิ่งแบบยกขาสูง ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้จดจำลักษณะท่าทางการวิ่ง ทำให้ขณะแข่งจริงวิ่งได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และรวดเร็วขึ้น

4. ฝึกกล้ามเนื้อด้วยวิธีการออกกำลังกายแบบอื่นอย่างสร้างสรรค์

นอกจากการฝึกฝนการวิ่งแล้ว นักวิ่งควรจะหาวิธีพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อาทิ การเวทเทรนนิ่ง หรือบอดี้เวท ที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ทะมัดทะแมงแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยทั้งนี้ต้องฝึกโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมดูแล และไม่เล่นหนักจนกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ

5. หาความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้องสำหรับนักกีฬา

ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพมีออกมาให้เห็นอยู่มากมาย โดยมีทั้งข้อมูลจริงและที่ถูกบิดเบือนให้เข้าใจผิด ๆ นักกีฬาควรศึกษาหาความรู้ด้านโภชนาการอาหารการกินที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือที่ดีต่อสุขภาพอย่างเหมาะสมและถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายสามารถนำสารอาหารเหล่านั้นมาใช้ขณะแข่งได้อย่างเต็มที่

6. มีอุปกรณ์เครื่องแต่งกายที่เอื้อต่อการวิ่ง

เครื่องแต่งกายรวมไปถึงรองเท้าวิ่งนั้น ปัจจัยหลักที่ควรนึกถึง คือ ปัจจัยด้านน้ำหนัก โดยวัสดุที่ใช้ต้องมีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี กระชับพอดีตัว ไม่เทอะทะเกะกะที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคขณะวิ่ง รองเท้าที่ใช้ควรเป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบมาสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า ข้อเท้า หรือกล้ามเนื้อบริเวณเท้าได้เป็นอย่างดี

เคล็บ(ไม่)ลับทั้ง 6 ข้อนี้ จะช่วยนำพาคุณไปสู่การเป็นนักวิ่งมืออาชีพได้อย่างแน่นอน โดยผลลัพธ์จะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ขยันหมั่นฝึกซ้อมของตัวคุณเอง ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงสิ่งเร้าจากปัจจัยภายนอก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สิ่งเร้าจากปัจจัยภายในอย่างจิตใจที่มุ่งมั่น ความอดทนไม่ย่อท้อต่างหากที่จะช่วยให้ความสำเร็จบนเส้นทางนักกีฬาวิ่งมืออาชีพของคุณโดดเด่นเปล่งประกาย และอยู่ยั่งยืนคู่คุณไปตลอดกาล

5 เทคนิคฟื้นฟูร่างกายอย่างไรให้กลับมาฟิตวิ่งได้เร็วดังเดิม

การฝึกฝนร่างกายเพื่อให้พร้อมกับการลงสนามครั้งต่อไปเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณเป็นนักวิ่งมืออาชีพ วินัยในการฝึกซ้อมถือเป็นหัวใจหลักที่จะตัดสินการแพ้ชนะของคุณได้เลยทีเดียว แต่การฝึกฝนนั้นก็ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม หากหักโหมมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง นอกจากการฝึกฝนร่างกายแล้ว การฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาฟิตและแข็งแรงดังเดิมสำหรับการเริ่มต้นฝึกซ้อมในวันใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน วันนี้เราจึงมาแนะนำ 5 เทคนิคฟื้นฟูร่างกายที่จะช่วยให้คุณกลับมามีแรงฟิตซ้อมได้อย่างเต็มที่

5 เทคนิคฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมรับการฝึกซ้อมในวันใหม่

1.พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูร่างกาย (Recover)ของนักวิ่ง หรือนักกีฬาทุกประเภท เพราะการนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด ช่วยให้ร่างการพักฟื้นได้อย่างเต็มที่ และสังเคราะห์สารอาหารเพื่อซ่อมแซม รักษา และสร้างมวลกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่

2.ดนตรีบำบัด

การฟังเพลงจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ลดอัตราการเต้นของหัวใจ สร้างความรู้สึกเพลิดเพลิน ปล่อยวาง และปลอดโปร่างได้เป็นอย่างดี

3.เสริมโปรตีนเช้าเย็น

โปรตีนสารอาหารที่จำเป็นในการสร้าง และซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่มีอาการบาดเจ็บ ซึ่งการรับประทานโปรตีนเพิ่มในมื้อเช้าจะช่วยให้ร่างกายสร้างกล้ามเนื้อได้มากกว่าการทานแป้งเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกันกับมื้อกลางคืนก่อนนอน เพราะระหว่างที่นอนหลับพักผ่อนนั้น ร่างกายจะดึงสารอาหารออกมาเพื่อซ่อมแซมและสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ การทานโปรตีนเสริมก่อนนอนจะยิ่งช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและสร้างกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นกว่าเดิม

4.ดื่มนมกันเถอะ

เหตุผลเดียวกันกับที่แม่บังคับให้เราดื่มนมตอนเด็ก ๆ เพื่อร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เพราะนมมีส่วนประกอบของโปรตีน ทางที่ดีควรดื่มหลังจากออกกำลังกาย และนอกจากโปรตีนแล้วนมยังมีส่วนประกอบของสารอาหารอื่น ๆ ที่ร่างกายสามารถดูดซับและนำไปใช้งานได้เร็ว นมจึงถือเป็นเครื่องดื่มที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการฟื้นฟูร่างกายของนักกีฬา แต่ต้องระวังไม่ดื่มมากจนเกินไป

5.น้ำช่วยเยียวยาทุกสิ่ง

การวิ่งจะทำให้เราสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกายในปริมาณมาก จากเหงื่อที่ออกเหมือนเขื่อนแตกท่วมทั่วทั้งร่างกาย และหากคุณยังไม่ดื่มน้ำเพื่อชดเชยเหงื่อที่ไหลออกมามาก ๆ นั้นแล้ว อาจทำให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ และอาจส่งผลร้ายแรงตามมาภายหลัง หรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บจากการวิ่งออกกำลังกายจะเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม การดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่จะช่วยเติมเต็มสารอาหารบางตัวที่สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อ ให้ร่างกายกลับมาอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และรักษาสมดุลของเหลวภายในร่างกายให้กลับมาดีได้ดังเดิม

เป็นอย่างไรบ้างกับวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายกลับมาฟิตปั๋งแข็งแรงได้ดีดังเดิมเพียงชั่วข้ามคืน นอกเหนือจาก 5 เทคนิคที่นำมาบอกต่อนั้น หากคุณเพิ่มการผ่อนคลายร่างกายด้วยการนวดคลึงเบา ๆ อย่างถูกวิธี เพื่อให้กล้ามเนื้อที่แข็งตึงคลายตัวและยืดหยุ่นได้ดีขึ้น ก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูมีสมรรถนะที่ดีพร้อม 100% พร้อมรับการฝึกในวันใหม่อย่างสดชื่น เพื่อให้คุณไม่พลาดเหรียญทองในสนามแข่งนัดถัดไปแน่นอน

ข้อดีข้อเสียของการซ้อมวิ่งการวันแข่งที่นักวิ่งมืออาชีพควรรู้

ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งมืออาชีพ นักวิ่งมือสมัครเล่น หรือผู้ที่ชื่นชอบและมีการวิ่งเป็นงานอดิเรก คงมีข้อสงสัยว่าก่อนวันแข่งจริงหนึ่งวัน ควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี จะพักร่างกายแล้วหยุดซ้อมก็กลัวจะแพ้เพราะซ้อมไม่พอ หรือหากจะซ้อมก็กังวลว่าร่างกายจะเหนื่อยเกินไปทำให้วันแข่งจริงไม่มีแรงหรือเปล่า หรืออาจบาดเจ็บก่อนวันแข่งจริงก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ความกังวล และคลางแคลงใจเหล่านี้คงสร้างความหงุดหงิดใจให้กับคุณอยู่ไม่น้อย แต่เอาเข้าจริง ไม่ว่าจะหยุดพักหรือซ้อมวิ่งก่อนวันแข่งก็ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน

ซ้อมวิ่งก่อนวันแข่งจริงดีอย่างไร?

  1. การซ้อมก่อนแข่งมีผลต่อสภาพจิตใจโดยตรง หากคุณซ้อมตามตารางประจำของคุณเป็นปกติ จะช่วยลดความกังวลใจ และความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้หากหยุดซ้อม
  2. การเช็คสภาพร่างกายก่อนแข่งจริง เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของคุณเป็นปกติ และพร้อมแค่ไหนสำหรับการแข่งขันในสนามที่กำลังจะมาถึง
  3. ลดความประหม่า และอาการเกร็งที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะตื่นสนาม แต่คุณควรวิ่งเพียงเบา ๆ ไม่เกิน 20 นาทีโดยประมาณ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
  4. ช่วยรักษาความคุ้นเคยของกล้ามเนื้อที่มีต่อท่าวิ่ง ให้คุณวิ่งด้วยความเร็วคงที่หรือเร็วขึ้นได้อย่างมั่นใจไม่ติดขัด

ผลเสียของการซ้อมวิ่งก่อนแข่งจริง

  1. เพิ่มอัตราความเสี่ยงในการทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรือเสียหายได้
  2. ทำให้ปริมาณไกลโคเจน (Glycogen) สารพลังงานที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้มากขึ้นและนานขึ้น ถูกดึงไปใช้งานโดยใช่เหตุก่อนวันแข่งจริง
  3. ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการ Recover ร่างกายให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ 100% ในวันแข่งจริง

หากประเมินด้วยสายตาจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าข้อดีของการซ้อมวิ่งก่อนแข่งมีมากกว่าข้อเสีย แต่หากศึกษาดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ข้อดีที่เกิดล้วนเป็นข้อดีด้านจิตใจทั้งสิ้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวคุณเองก่อนลงแข่ง แต่ผลเสียที่จะเกิดตามมาหากคุณซ้อมวิ่งก่อนแข่งนั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการแข่งขันกีฬาทุกประเภท เพราะต่อให้คุณมีจิตใจที่พร้อมและมั่นใจเพียงใด แต่หากร่างกายไม่เอื้ออำนวยคุณก็แทบจะรู้ผลแพ้ชนะตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง

ทั้งหมดที่กล่าวมาคงพอจะบอกได้ว่าก่อนการแข่งขันทุกรายการไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬาประเภทใด คุณควรพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้สงบ ทานอาหารที่ดีและช่วยเสริมพละกำลังของคุณที่จะถูกดึงมาใช้ในวันแข่งจริง รวมไปถึงตรวจเช็คร่างกายให้พร้อมรับกับการแข่งขันที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วง ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์ที่จะใช้ในการแข่งวิ่ง อาทิ เสื้อผ้า ถุงเท้า และอุปกรณ์สุดสำคัญอย่างรองเท้า ซึ่งรองเท้าที่ใช้ในการแข่งขันนั้น เน้นย้ำว่า ห้ามเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน และไม่เคยผ่านการนำไปซ้อมวิ่งด้วยมาก่อน เพราะจะทำให้มีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างวิ่ง หรือเกิดอาการบาดเจ็บจากรองเท้าคู่ใหม่ค่อนข้างสูง ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขันนัดสำคัญของคุณเป็นแน่

เผยเทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนแข่งฉบับนักกีฬามืออาชีพ

นักวิ่งหน้าใหม่หลาย ๆ คน คงกำลังตื่นเต้นกับการแข่งขันนัดสำคัญที่กำลังจะมาถึง จะฟิตซ้อมเพื่อให้ร่างกายพร้อมก่อนลงสนามจริง ซึ่งหารู้ไม่ว่านั่นเป็นวิธีที่ผิดมหันต์ เพราะการโหมซ้อมหนัก ๆ ก่อนวันแข่งจริง อาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บ จนบางทีอันตรายถึงชีวิต แต่สำหรับนักวิ่งมืออาชีพนั้น ก่อนแข่งเป็นช่วงที่ร่างกายได้ผ่อนคลายลงหลังจากที่ซ้อมอย่างหนักมาเป็นเวลานาน เน้นการบริโภคอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับนักกีฬาวิ่งตามหลักโภชนาการ เน้นการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือบาดเจ็บ รวมเป็นถึงไม่กี่ชั่วโมงก่อนแข่งจริง การวอร์มอัพร่างกายด้วยวิธีและท่าที่ถูกต้อง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักวิ่งน้องใหม่ควรศึกษา เพราะการวอร์มอัพมีผลต่อสภาพร่างกายขณะแข่งอย่างมาก วันนี้เราจึงมาเผยเทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนแข่งของนักกีฬามืออาชีพ มาดูกันว่านักกีฬาอาชีพเขามีวิธีในการเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ร่างกายพร้อมลงสนามและคว้าชัยชนะมาได้ในที่สุด

โภชนาการก่อนแข่งนั้นสำคัญ

ในช่วงระหว่างฝึกซ้อมก่อนวันแข่ง เรื่องอาหารการกินของนักวิ่งนั้น สำคัญไม่น้อยไปกว่าวินัยในการฝึกซ้อมอย่งสม่ำเสมอ นักวิ่งต้องทานอาหารที่สร้างพลัง ฟื้นฟูร่างกาย และสามารถดึงสารอาหารไปซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ รวมไปถึงพลังงานสำรองที่จะถูกนำมาใช้ในเฮือกสุดท้ายของการวิ่ง เทคนิคสำคัญที่สุดในการคว้าเหรียญมาครอบครอง โดยสรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้

1 สัปดาห์ก่อนแข่ง

นักวิ่งควรทานอาหารที่เพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรต เพื่อสะสมไว้เป็นพลังงานสำรองไว้ในร่างกายในรูปแบบ
ไกลโคเจน (glycogen) โดยพลังงานสำรองนี้จะถูกนำมาใช้งานขณะวิ่งที่พลังงานหลักในร่างกายใกล้หมด ส่งผลให้นักวิ่งมีสรรถนะในการวิ่งที่ดีขึ้น สามารถวิ่งได้ทน และวิ่งได้นานขึ้น

1 วันก่อนแข่ง

ทานอาหารที่ได้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่ากับ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ให้ทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย อาทิ เนื้อปลา อกไก่ย่าง ผักลวกสุก ไม่ควรทานผักสดและผลไม้มากจนเกินไป งดอาหารรสจัด กึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย หรืออาหารที่นักวิ่งทานแล้วจะเกิดอาการแพ้ เพราะอาหารเหล่านี้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องเสียฉับพลัน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ควรจะเป็น เกิดภาวะขาดน้ำตามมา วิงเวียนศรีษะ และหมดสติไปในที่สุด

1 ชั่วโมงก่อนแข่ง

รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงและร่างการซึมซับได้ดี ย่อยง่าย อาทิ กล้วย มันหวาน ขนมปังธัญพืช ธัญพืชอบกรอบ พาวเวอร์บอล และจิบน้ำเปล่าตามทีละน้อย งดการดื่มนม กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขับถ่าย

การวอร์มอัพก่อนแข่งของนักกีฬาวิ่งมืออาชีพ

สำหรับนักวิ่งสมัครเล่นหลาย ๆ คนคงมองข้ามขั้นตอนนี้ไป เพราะมัวตื่นเต้นและกังวลกับการแข่งขันที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า แต่หากเป็นนักวิ่งมืออาชีพนั้น ขั้นตอนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งขึ้นตอนที่สำคัญมาก เพราะการวอร์มอัพที่ถูกวิธีจะช่วยเพิ่มสมรรถนะของนักวิ่งให้วิ่งได้ราบรื่น ลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อบาดเจ็บ และอันตรายจากหัวใจทำงานหนักเกินไป จนอาจเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือหัวใจล้มเหลวได้ โดยการวอร์มอัพนั้นจะเน้นการยืดกล้ามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สามารถยืดหยุ่นได้ดีขณะแข่ง อีกทั้งร่างกายยังได้อุ่นเครื่องสร้างความพร้อม ความกระตือรือร้น ความตื่นตัวให้กับตัวนักกีฬาเองอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับเทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนแข่งฉบับนักกีฬามืออาชีพ เรื่องง่ายที่มือสมัครเล่นหลายคนคาดไม่ถึงหากไม่ศึกษาหาข้อมูล เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการแข่งขันนัดสำคัญ การแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทใด ปัจจัยด้านการฝึกซ้อมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอให้คุณไปถึงฝั่งฝันตามเป้าหมาย เพราะการแข่งขันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ คุณต้องพบเจอคู่แข่งในสนามที่ต่างก็ฝึกซ้อมมาอย่างหนักไม่ต่างจากคุณเช่นกัน เคล็ดลับที่ไม่ลับอีกต่อไปเหล่านี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญให้คุณประสบความสำเร็จในเส้นทางนักกีฬามืออาชีพได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะต่อให้คุณเตรียมพร้อมร่างกายมายังไง หากตื่นเต้นจนอดหลับอดนอนทุกอย่างที่ทำมาก็จะเท่ากับศูนย์ไปโดยปริยาย

3 ข้อคิดที่นักกีฬาวิ่งมืออาชีพได้จากการแข่งวิ่ง

เราทุกคนเกิดมา เมื่อเติบโตขึ้นก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงชีวิตตนและครอบครัว และคงจะดีไม่น้อยหากการได้ทำอาชีพใด ๆ ที่ได้เงินมาเพื่อการดำรงชีพนั้นจะเกิดจากสิ่งที่ตนเองชอบและรักที่จะทำเป็นประจำ เพราะข้อดีของการได้ทำงานที่รักนั้น ก็คือ เราจะเหมือนไม่ได้ทำงานแต่กำลังทำสิ่งที่สนุกและท้าทายความสามารถตนเอง แถมยังได้เงินอีกด้วย ซึ่งกีฬาวิ่งก็เป็นหนึ่งในกีฬาหลาย ๆ ชนิด ที่หากผู้ที่มีใจรัก ทุ่มเทพลังแรงกายแรงใจฝึกซ้อมอย่างจริงจังมากเพียงพอแล้วล่ะก็ สามารถที่จะใช้เป็นอาชีพหนึ่งอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนตามความสามารถเลยทีเดียว และสำหรับใครก็ตามที่กำลังหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ และยังตัดสินใจไม่ได้ซักทีว่าจะหันมาเอาดีกับการเป็นนักวิ่งมืออาชีพหรือไม่นั้น บทความนี้ก็มี 3 ข้อคิดที่ได้จากการวิ่งของนักกีฬาวิ่งมืออาชีพทั้งหลายมาฝากกัน ไปดูกันได้เลย

1.ทุกอาชีพมีความคุ้มค่าในการลงทุนลงแรง แต่ก็ไม่ใช่ทุกอาชีพจะเหมาะกับทุกคน หลาย  ๆ คนอาจจะหันมายึดเอากีฬาวิ่งเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำมันได้ดีจริง ๆ ซึ่งดีในที่นี้หมายถึงหาเงินจากอาชีพนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำและสามารถใช้ดูแลตนเองและครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน นักวิ่งมืออาชีพก็มีต้นทุนที่ต้องเสียไป และแลกมาด้วยกันทั้งนั้นเฉกเช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อเข้ามาในเส้นทางของการเป็นนักวิ่งมืออาชีพแล้ว แน่นอนว่าทุกคนต่างก็ต้องมีใจรักในการวิ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมที่จะคอยวัดผลที่ได้จากการลงแรงนั้นอยู่ตลอด เพราะหากว่าวันใดวันหนึ่งมันไม่คุ้มค่าเราจะได้ไม่เสียเวลา และหาอาชีพอื่น ๆ มาทดแทน การวิ่งถึงไม่วิ่งเป็นอาชีพหลัก ก็สามารถวิ่งเป็นอาชีพเสริม หรืองานอดิเรกก็ยังได้ ขอเพียงมีใจรักที่จะวิ่งต่อไปเท่านั้นเอง

2.อยากสูงต้องเขย่ง อยากเก่งต้องขยัน ดังนั้นหากใครก็ตามที่คิดว่าจะเอาดีทางการวิ่งนี้แล้วล่ะก็ บอกเลยว่าการทุ่มเทเวลา หมั่นขยันฝึกซ้อมเป็นสิ่งพื้นฐานที่คุณจะต้องมีเป็นอันดับแรก ความสม่ำเสมอในการฝึกฟิตซ้อมร่างกายจะเป็นอาวุธอย่างดีที่จะทำให้คุณสามารถเอาชนะคู่แข่งในการออกวิ่งแต่ละครั้งไปได้ อย่างไรก็ดีพอบอกว่าให้ขยันฝึกขยันซ้อม ก็ไม่ใช่ว่าทำไปแบบไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีแผน เพราะการฝึกซ้อมที่ดีจะต้องมีการวางแผนการฝึกซ้อมให้เข้ากับตัวของนักกีฬาให้มากที่สุด ผ่อนหนักผ่อนเบาตามสถานการณ์ ไม่ใช่เอะอะก็เน้นปริมาณเวลาที่ซ้อมอย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือคุณภาพของการฝึกซ้อมควบคู่ไปด้วยนั่นเอง

3.ไม่ไหวอย่างฝืน เพราะการฝืนทำไม่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดี สิ่งที่นักกีฬาอาชีพทุกคนจะต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ร่างกายของเราไม่ใช่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการหาเงิน แต่มันคือทั้งหมดของทั้งชีวิตที่เรามี ดังนั้นหากอยากชนะ และสามารถรักษาร่างกายของเราให้แข็งแรงเพื่ออยู่ใช้ชีวิต และดื่มด่ำกับชัยชนะต่าง ๆ ที่จะได้รับแล้วล่ะก็ จงรู้จักคุณค่าและให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราป่วยอย่าว่าแต่ออกวิ่งเลย แม้แต่การนั่ง นอน ยืน หรือเดิน ก็อาจจะทำได้ยากก็เป็นได้ อย่าคิดได้ในวันที่สายเพราะหากถึงวันนั้นจริง ๆ อะไร ๆ อาจจะสายเกินแก้แล้วก็เป็นได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ใคร ๆ หลาย ๆ คนตัดสินใจได้ว่าจะเอาอย่างไรกับเส้นทางความฝันในการอยากที่จะเป็นนักวิ่งมืออาชีพกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกทางไหน หากทุ่มเท ตั้งใจทำเต็มที่แล้ว ก็คงไม่มีอะไรให้เสียใจอย่างแน่นอน

ท่าวิ่งสำคัญไฉนฯ รวมท่าวิ่งที่ถูกต้องของนักกีฬามืออาชีพ

วิ่งกีฬาที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ แต่หากคุณจะผันตัวเองไปเป็นนักวิ่งมืออาชีพ คุณต้องมีมากกว่าพละกำลังและใจที่มุ่งมั่น คุณควรมีการฝึกซ้อมที่มีวินัย จัดทำตารางซ้อมอย่างจริงจัง และขยันซ้อมอยู่เสมอ มีการทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและเป็นประโยชน์ต่อการแข่งวิ่งของคุณ ที่สำคัญคุณควรศึกษาและทำความรู้จักท่าวิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมของการวิ่งแบบนักกีฬามืออาชีพ เพื่อเพิ่มสรรถนะในการวิ่งให้วิ่งได้เร็วและนานขึ้น รวมถึงสามารถป้องกันการบาดเจ็บระหว่างแข่งขันได้อีกด้วย

การจัดระเบียบร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าสำหรับท่าวิ่งที่ถูกต้องของนักวิ่งมืออาชีพ

1.ศีรษะตั้งตรงเสมอ

ศรีษะตั้งตรง มองไปข้างหน้าด้วยสายตาที่แน่วแน่ประมาณ 10 – 15 ฟุต ห้ามมองปลายเท้าตนเองขณะวิ่งโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียหลัก สะดุดสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหกล้มจนได้รับบาดเจ็บ

2.รักษาความสมดุลของช่วงไหล่ไล่ลงมาถึงบริเวณหลัง

การวิ่งในช่วงออกตัวควรวิ่งแบบโน้มตัวไปทางด้านหน้าเพื่อให้นักวิ่งออกตัวได้เร็วกว่านักวิ่งคนอื่น แต่จะแลกมาด้วยพละกำลังที่เสียไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้คุณหมดแรงและเหนื่อยง่ายกว่าวิ่งตัวตรงปกติ จึงควรวิ่งลักษณะนี้แค่ในช่วงแรกที่ออกตัว แต่หลังจากนั้นระหว่างการวิ่งควรวิ่งหลังตรงไม่โน้มเอนไปทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ซึ่งถือเป็นท่าวิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากโน้มตัววิ่งเป็นเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังช่วงล่างตึงและบาดเจ็บได้ ส่วนบริเวณบ่าไหล่นั้นให้อยู่ในตำแหน่งที่รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ยกขึ้นจนรู้สึกปวดเกร็ง

3.ลำตัวตั้งตรงลดบาดเจ็บ

ล็อคลำตัวให้ตั้งตรงไม่หมุนไปมา ดึงช่วงท้องเข้าด้านในขณะวิ่ง พยายามควบคุมตัวเองให้วิ่งหลังตรงมากที่สุด เพราะเป็นท่าวิ่งที่ถูกต้องที่ส่งผลให้นักวิ่ง วิ่งได้เร็วและปลอดภัยจากการบาดเจ็บ

4.จัดระเบียบแขนช่วยรักษาการทรงตัว

ไม่วิ่งสะบัดแขนข้ามลำตัวไปมา ควรให้แขนแกว่งอยู่ข้างลำตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ร่างกายใช้แรงมากและเหนื่อยจนเกินไป การแกว่งแขนไปด้านหน้าและด้านหลังข้างลำตัวนั้น ท่าที่ถูกต้องควรแกว่งในทิศทางตรงกันข้ามกับเท้าที่วิ่งไป อาทิ หากแกว่งแขนซ้ายไปด้านหน้า เท้าขวาควรอยู่ด้านหลังลำตัว เพื่อเป็นการท่วงน้ำหนักและรักษาสมดุลของร่างกายขณะวิ่ง

5.อย่าพะวงกับลักษณะของมือ

นักกีฬาส่วนใหญ่จะเลือกแบมือขณะวิ่ง เพราะเป็นท่าที่ลู่ไปตามลมได้ดีกว่า ในขณะที่โค้ชนักกีฬามักจะบอกเสมอว่าให้กำมือหลวม ๆ ขณะวิ่ง แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่มีกฎตายตัวว่าควรจัดระเบียบมือให้อยู่ในลักษณะใด ขอแค่อยู่ในท่าที่จะไม่ทำให้คุณพะวง และรู้สึกผ่อนคลายก็พอ

6.เข่านั้นสำคัญต่อการวิ่ง

ก่อนการแข่งขันให้ตรวจเช็คสภาพของลูกสะบ้าบริเวณหัวเข่า เพราะหากมีอาการผิดปกติ ขณะวิ่งควรหาผ้ามาพันเพื่อรักษาตำแหน่งลูกสะบ้าให้คงที่ไม่ขยับเคลื่อน และควรวิ่งให้ขาทั้งสองข้างลงพื้นในลักษณะตรงไม่บิดเบี้ยว เพราะ อาจทำให้ข้อเข่าพลิกได้ ไม่จำเป็นต้องยกเข่าสูงตลอดการแข่งขัน แต่หากต้องการเพิ่มความเร็วให้ยกเข่าสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อย

7.เท้าอวัยวะที่สำคัญที่สุดของนักวิ่ง

พยายามลดแรงกระแทกในการลงเท้าให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้จมูกเท้าลง เพราะหากใช้ส้นเท้าลงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการรองช้ำอักเสบได้ นอกจากเท้าที่สำคัญแล้ว นักวิ่งจำเป็นต้องมีน่องและข้อเท้าที่แข็งแรง ที่จะช่วยรองรับน้ำหนักตัวได้อย่างมั่นคง ไม่อ่อนแรงจนหกล้ม

มาถึงตรงนี้แล้วคงจะพอเห็นภาพท่าวิ่งที่ถูกต้องกันบ้างแล้ว การเป็นนักวิ่งมือที่มีโค้ชคอยช่วยฝึกซ้อม ดูแล และตรวจสอบความถูกต้องของการวิ่งจะช่วยเบาแรงในการฝึกซ้อมและทำให้คุณได้รู้เทคนิคต่าง ๆ นา ๆ มากทีเดียว แต่หากคุณยังไม่มีคนคอยสนับสนุนขนาดนั้น ก็คงเป็นเรื่องเหนื่อยเอาการสำหรับคุณ การเป็นนักกีฬาที่ต้องดูแลตัวเองทุกขั้นตอนแบบนี้ถึงแม้จะเหนื่อยและหนัก แต่เชื่อได้ว่าประสบการณ์ที่ได้จะส่งผลดีต่อคุณในอนาคตมากทีเดียว อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณได้มีองค์ความรู้ด้านการวิ่งมากกว่ามีเพียงแค่ทักษะ เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจผันตัวเองจากนักกีฬามืออาชีพกลายเป็นโค้ชมืออาชีพจากความรู้ และประสบการณ์ตรงของคุณก็เป็นได้

“วิ่ง” วาระแห่งชาติที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและทัศนคติคนไทย

หากกล่าวถึงกีฬาที่มีบทบาทต่อคนไทยมากที่สุดในปัจจุบัน คงตอบเป็นเสียงเดียวกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน “วิ่ง” กีฬาที่หลายคนมองว่าง่าย ๆ ที่กำเนิดมาจากกริยาของมนุษย์เรา เชื่อได้ว่าเกือบ 100% ของทุกคนในวัยเด็กล้วนต้องเคยเป็นนักกีฬาวิ่งสมัครเล่นมาก่อนเป็นแน่ ไม่ว่าจะการวิ่งแข่งในกีฬาสีของโรงเรียน วิ่งแข่งกับพี่น้อง หรือกับเพื่อนแถวบ้าน วิ่งจึงถือเป็นกีฬาที่อยู่คู่มนุษย์เรามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย กีฬาแห่งความทรงจำสีจางที่สวยงาม

“ก้าวคนละก้าว” โครงการเล็ก ๆ ที่สร้างตำนานให้กับวงการวิ่ง

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีปรากฏการณ์ “ก้าวคนละก้าว” โครงการวิ่งการกุศลที่สร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวให้กับเหล่าบรรดานักวิ่งมืออาชีพและนักวิ่งมือสมัครเล่นทั่วฟ้าเมืองไทย ต่างร่วมกันออกเดินทางจากใต้จรดเหนือไปกับศิลปินดารานักร้องนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยมากมาย ถือเป็นโครงการการกุศลรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนวิถีชีวิต มุมมอง และทัศนคติที่คนไทยมีกับกีฬาชนิดนี้ไปตลอดกาล เปลี่ยนกีฬาให้เป็นมากกว่ากีฬา ทำให้คนไทยทั่วทุกสารทิศหันมาให้ความสนใจ และใส่ใจรักสุขภาพตนเองมากขึ้น เป็นกระแสความนิยมที่มาแรงไม่แพ้กระแสความนิยมด้านแฟชั่นหรือความบันเทิงต่าง ๆ

นอกจากที่ผู้คนหันมาใส่รองเท้าวิ่งเพื่อดูแลสุขภาพกันมากขึ้นแล้ว วัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือสังคมด้วยการรับบริจาคผ่านช่องทางต่าง ๆ ก็บรรลุเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างถล่มทลาย หลายต่อหลายครั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราเห็นธารน้ำใจของคนไทยที่มีอย่างท่วมท้นต่อเพื่อนร่วมชาติที่ขาดแคลน เป็นอีกกิจกรรมดี ๆ ที่หล่อหลอมความดี และทำให้คนไทยเรารักและสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น

“วิ่งการกุศล” นอกจากกำลังกายที่ได้ กำลังใจที่ได้ก็มีมากไม่แพ้กัน

อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันอย่างชัดเจนในกิจกรรมดี ๆ นี้ นั่นก็คือกำลังใจ ทั้งกำลังใจที่ส่งไปให้ทีมผู้นำการวิ่ง ให้วิ่งได้สำเร็จบรรลุเป้าหมาย และกำลังใจที่ทีมนักวิ่งส่งกลับมาให้ผู้คนที่กำลังรู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง และเดียวดาย ให้กลับมาฮึดสู้ต่อปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อีกครั้ง ดังหลาย ๆ ภาพที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ ภาพที่นักวิ่งวิ่งไปโอบกอดผู้ที่มาให้กำลังใจตนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ยืนรอให้กำลังใจมีน้ำตาท่วมท้นทั้งสองตา น้ำตาแห่งความปิติ น้ำตาแห่งความหวังที่กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ น้ำตาแห่งกำลังใจที่ทั้งสองฝ่ายมีให้กันและกัน ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจและเปลี่ยนชีวิตใครหลาย ๆ คนได้อย่างน่าประหลาด หรือนี่คือที่มาที่แท้จริงของคำว่า “กีฬาคือยาวิเศษ”

โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ปิดฉากความประทับใจด้วยยอดบริจาคตามเป้าที่ช่วยต่อชีวิตคนไทยได้อย่างมหาศาล จุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ดีขึ้นของใครหลาย ๆ คน นอกจากวิ่งเพื่อสุขภาพร่างกายแล้ว วิ่งยังเปลี่ยนให้เราเรียนรู้และรู้จักกับการให้มากกว่าที่เคยเป็น อย่างที่เห็นได้ในปัจจุบันแทบไม่เว้นแต่ละสัปดาห์เราจะเห็นการจัดวิ่งเพื่อการกุศลจากทุกจังหวัดทุกหน่วยงาน สร้างพื้นที่ให้คนไทยได้ออกกำลังกาย และร่วมช่วยเหลือสังคม ถือเป็นกิจกรรมดี ๆ ที่สังคมไทยต่างร่วมกันสร้างให้เป็นตำนาน และร่วมกันสืบสานให้สิ่งดี ๆ เช่นนี้คงอยู่คู่ไทยไปตลอดกาล